นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ในพม่าหลายท่านให้ความสนใจศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับเชลยศึกชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนไปยังพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ โดยศึกษาจากพงศาวดารพม่าฉบับหอแก้วและฉบับคองบอง ซึ่งได้บันทึกถึงการตั้งถิ่นฐานของเชลยศึกชาวสยามที่ชานเมืองอังวะเมืองหลวงของพม่าในขณะนั้น และในสมุดข่อยพม่าได้กล่าวถึงสถูปองค์หนึ่งในสุสานลินซินกง เมืองอมรปุระ ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองมัณฑะเลย์ เป็นสถูปที่ใช้บรรจุพระบรมอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งถูกจับไปเป็นเชลยในคราวนั้นและเสด็จสวรรคตที่พม่า เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการขุดค้นสถูปพระเจ้าอุทุมพรเพื่อยับยั้งการทำลายสุสานนี้ลงตามแผนพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ และเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุสานแห่งนี้ ผลจากการขุดค้นทำให้เชื่อว่า บริเวณสุสานดังกล่าวเคยเป็นวัดอโยธยาที่ประทับแห่งสุดท้ายของพระเจ้าอุทุมพร อีกทั้งในปัจจุบันยังคงมีชุมชนชาวสยามอาศัยอยู่ในอีกหลายพื้นที่ของประเทศพม่า เช่น “มะริด” ยังคงมีชุมชนสยามตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ หรือที่ “ย่างกุ้ง” ก็เคยมีชุมชนคนไทยตั้งแต่คราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ดังปรากฏในเอกสารบันทึกของชาวต่างประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาและเข้าใจถึงชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมของชาวสยามในสมัยอยุธยา ซึ่งเป็นสิ่งที่รางเลือนสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาในปัจจุบัน