สายสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ ทางศิลปะและวัฒนธรรมของผู้คนสองฝั่งโขงมี มาแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ถ้ามองดูผลงานด้านศิลปะโดยภาพรวมในอดีตของดินแดนสองฝั่งโขงแถบอีสานใต้และ สปป.ลาว แล้วจะพบว่า โดยพื้นฐานเดิมมีอิทธิพลวัฒนธรรมล้านช้างเป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก แต่จากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมนับจากคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันทำให้เกิดกระแสการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในการสร้างสรรค์ผลงานด้านศิลปะในดินแดนดังกล่าว [อ่านเพิ่ม]
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเชิงลึกจะพบว่า ผลงานด้านศิลปะในดินแดนอีสานใต้และ สปป.ลาว ตอนกลางและตอนล่างหรือลาวใต้ จะมีทั้งลักษณะร่วมและอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในเชิงช่างและวิถีวัฒนธรรม โดยเฉพาะส่วนประณีตศิลป์ของ ศาสนาคารประเภท สิม (โบสถ์) อาฮาม (วิหาร) หอแจก (ศาลาการเปรียญ) หอไตร และ ธาตุ (เจดีย์) จากการศึกษาของ ดร. ติ๊ก แสนบุญ ได้จำแนกรูปแบบศิลปะอีสานและ สปป.ลาว ตอนกลางและลาวใต้ออกเป็น ๓ สกุล คือ สกุลช่างพื้นบ้าน (ชาวบ้าน) ที่เน้นความเรียบง่าย และพยายามรักษาอัตลักษณ์พื้นบ้านเอาไว้ สกุลช่างพื้นเมืองซึ่งรับอิทธิพลของช่างหลวงทั้งจากราชสำนักกรุงเทพฯ แห่งลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และราชสำนักล้านช้างแห่งลุ่มแม่น้ำโขง และสกุลช่างญวน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อพยพหนีภัยสงครามในยุคอาณานิคมเข้ามาในอีสาน และ สปป.ลาว โดยนำรูปแบบศิลปะอย่างจีน-เวียดนาม และฝรั่งเศส เข้ามาใช้ในศิลปะอีสานและลาว ซึ่งแสดงออกผ่านรูปแบบ เทคนิคด้านวัสดุ และคติสัญลักษณ์ในเชิงช่าง กระนั้นก็ตาม ทั้ง ๓ สกุลช่าง ล้วนยังคงมีการเคลื่อนไหวภายใต้กรอบแนวคิด “นาคาคติ” ที่ทรงพลังอันยิ่งใหญ่อันเป็นวิถีวัฒนธรรมร่วมของผู้คนสองฝั่งโขง