ศาสนสถานตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ หมายถึง สิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น โบสถ์ วิหาร สถูป เจดีย์ ดังนั้น ศาสนสถานจึงจัดว่าเป็นสิ่งก่อสร้างประเภท หนึ่งในงานสถาปัตยกรรม ซึ่งก็คือ ผลงานศิลปะที่แสดงออกในลักษณะสิ่งก่อสร้าง รวมถึงสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสิ่งปลูกสร้างนั้น ที่มาจากการออกแบบของมนุษย์ ด้วยศาสตร์ทางด้านศิลปะ การจัดวางที่ว่าง ทัศนศิลป์ และวิศวกรรมการก่อสร้าง เพื่อให้ได้ประโยชน์ใช้สอยตามที่ต้องการ โดยอาจจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบตามสภาพทางภูมิศาสตร์และคตินิยมในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งรูปแบบสิ่งก่อสร้างทางศาสนาพุทธมักจะมีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะมีความเชื่อความศรัทธาและแบบแผนพิธีกรรมที่เหมือน ๆ กัน [อ่านเพิ่ม]
อย่างไรก็ดี ศาสนสถานในแต่ละยุคสมัยล้วนสะท้อนคติความเชื่อค่านิยมและโลกทัศน์ อันเชื่อมโยงไปสู่การทำความเข้าใจในประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรม และการเมืองของสมัยนั้น ๆ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป คุณค่าและความหมายแฝงที่ปรากฏอยู่บนตัวอาคารซึ่งเกิดจากการออกแบบของผู้สร้าง กลับเลือนรางและจางหายไปจากความทรงจำของผู้คน ในท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นสู่รุ่น ดังนั้น มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ในฐานะที่เป็นองค์กรส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมไทย จึงขอเชิญท่านร่วมเรียนรู้ ค้นหาคำตอบ “ปริศนาเบื้องหลังศาสนสถาน” จากบทความ ๒ เรื่อง ซึ่งนำเสนอประเด็นที่เป็น “ความรู้ใหม่ความคิดใหม่” ในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมไทย