บทความในหนังสือเล่มนี้เป็นผลงานจากการศึกษาภาพนูนต่ำปูนปั้นและดินเผาที่ประดับอยู่ที่ฐานเจดีย์จุลปะโทน จังหวัดนครปฐม ซึ่งขุดพบได้ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ (ค.ศ. ๑๙๖๘) โดยค้นคว้าเรียบเรียงจากหลักฐานทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งปรากฏว่าศิลปกรรมเหล่านี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธศาสนนิทาน จากพระคัมภีร์ “อวทาน” ในลัทธิหินยานนิกายสรรวาสติวาท อันเป็นเรื่องราวอภินิหารของ พระพุทธองค์และพระสาวกบางองค์ในชาติปางก่อนๆ ซึ่งต้นฉบับที่ยังเหลือมาจนถึงปัจจุบันมีเพียงภาษาสันสกฤตหรือที่แปลมาจากสันสฤตเท่านั้น พิริยะจึงสันนิษฐานว่า ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ – ๑๒ ชาวเมืองนครปฐมแห่งอาณาจักรทวารวดีนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิหินยานที่ใช้พระคัมภีร์ภาษาสันสกฤต ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้ขัดแย้งกับความเชื่อแต่เดิมว่าเป็นภาพชาดกในพระคัมภีร์ “อรรถกถา” ของพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท จากความเชื่อที่ว่าดินแดนแถบเมืองนครปฐมเป็นที่ตั้งของอาณาจักรสุวรรณภูมิและอยู่ภายใต้อิทธิพลของพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบที่ถือปฏิบัติกันอยู่ในประเทศอินเดียสมัยพระเจ้าอโศก