หนังสือเล่มนี้ปรับปรุงและแก้ไขใหม่จากหนังสือเรื่อง เมืองศรีเทพศูนย์กลางของทวารวดี ซึ่งจัดพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๐ และ เรื่อง ทวารวดีศรีเทพ จัดพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เนื่องในกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมสัญจร ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ของมูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้อ่านที่มิได้ร่วมทัศนศึกษามีความรู้ ความเข้าใจ และเห็นความสําคัญของศรีเทพและทวารวดีในประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทย
สุนทรียภาพของพระพุทธรูปแบบทวารวดี ที่ผนวกบุคลิกและเสน่ห์ของชาวท้องถิ่นเข้ากับความเป็นเลิศทางอุดมคติของศิลปะอินเดีย สมัยราชวงศ์คุปตะ จูงใจให้ผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับศิลปะทวารวดี อาณาจักรซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่ามีราชธานีอยู่ที่นครปฐม และพลเมืองนับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท จึงเป็นที่ยอมรับกันตลอดมา ผู้เขียนเริ่มศึกษาภาพดินเผาและปูนปั้นที่ฐานเจดีย์จุลปะโทน นครปฐม และพบว่าเนื้อหาของภาพเหล่านั้นมาจากนิทานอวทาน ของนิกายมูลสรรวาสติวาท ต่อมาจึงได้กําหนดอายุเวลาของเจดีย์องค์นั้นจากวิวัฒนาการของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมในวิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิตเสนอต่อมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) สหรัฐอเมริกา ใน พ.ศ. ๒๕๑๘ (1975) ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าศิลปกรรมส่วนใหญ่ที่พบที่นครปฐมมีอายุเวลาอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ (คริสต์ศตวรรษที่ 8) ซึ่งไม่สอดคล้องกับระยะเวลาที่ทวารวดีส่งบรรณาการไปยังจีนตั้งแต่หนึ่งศตวรรษก่อนหน้านั้น ทําให้ผู้เขียนสงสัยว่า นครปฐมคงจะไม่ใช่ที่ตั้งของอาณาจักรทวารวดี แต่อาจจะเป็นนครรัฐหนึ่ง บริเวณรอบอ่าวไทยที่ส่งบรรณาการไปยังจีนในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๔ และทวารวดีน่าจะได้แก่หนึ่งในนครรัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณนั้น สามทศวรรษต่อมาในหนังสือเรื่อง รากเหง้าแห่งศิลปะไทย ผู้เขียนยังยึดถือว่าทวารวดี “หมายถึงรัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา”
จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๕๒ (2009) โคล้ด ฌาคส์ (Claude Jacques) ผู้เชี่ยวชาญการอ่านศิลาจารึกกัมพูชา เสนอว่าทวารวดีน่าจะได้แก่ศรีเทพ โดยให้เหตุผลว่าทวารวดีเป็นเมืองของพระกฤษณะ อวตารที่ ๘ ของพระวิษณุ เทวรูปพระกฤษณะก็พบแต่เพียงที่ศรีเทพ ผู้เขียนจึงนำความคิดนี้มาผนวกกับข้อวินิจฉัยของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน วารสารของสยามสมาคม (Journal of the Siam Society) เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๒ (1939) ว่าทวารวดีเป็นชื่อของกรุงศรีอยุธยาเมื่อแรกสถาปนาจนเสียกรุง และเนื่องด้วยว่าศรีเทพตั้งอยู่ตอนกลางของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งปลายน้ำอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา จึงเข้าใจได้ว่า ดินแดนแถบนั้นในอดีตกาลเป็นภูมิลำเนาของชาวสยามและเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรทวารวดี