มูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์

ประวัติศาสตร์ศิลปะ - ความคิดใหม่ ความรู้ใหม่

ศาสตราจารย์พิเศษ
ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์
เมธีวิจัยอาวุโส
สาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ

แนะนำผู้ก่อตั้งมูลนิธิ

พิริยะเป็นผู้ที่รักงานศิลปะมาแต่เยาว์วัย โดยได้รับคำยกย่องตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ ในขั้นอุดมศึกษาได้เรียนวาดเขียนที่ The Byam Shaw School of Drawing and Painting และศึกษาวิชาประติมากรรมกับ Henry Moore ประติมากรชาวอังกฤษ ที่ Royal College of Arts กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร นอกจากนั้นยังเข้าเป็นศิษย์ของ Oskar Kokoschka ศิลปินชาวออสเตรียน ที่โรงเรียนสอนศิลปะภาคฤดูร้อนของออสก้า ในเมือง Salzburg ประเทศออสเตรีย ในปี ๒๕๐๕ และ ๒๕๐๖

พิริยะใช้ชีวิตเป็นศิลปินอย่างเต็มตัวอยู่ ๕ ปีเริ่มจากปี ๒๕๐๔ มีผลงานในยุคแรกนี้ร่วม ๑๕๐ ชิ้น ซึ่งนักวิจารณ์ศิลปะท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่า “ผลงานยุคแรก ของเขาแสดงให้เห็นแนวโน้มที่จะเป็นศิลปินที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของประเทศไทย” (Herbert P. Phillips, The Integrative Art of Modern Thailand. Seattle: University of Washington Press)

ช่วงที่ถือว่าเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตศิลปินของพิริยะ คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จไปวาดพระบรมรูปทั้งที่เป็นส่วนพระองค์ และเมื่อทรงพระราชกรณียกิจต่างๆ พร้อมทั้งเสด็จฯ เปิดงานนิทรรศการภาพเขียนที่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๖

ต่อมาเมื่อพิริยะได้รับคำแนะนำว่าเป็นผู้ที่น่าจะเหมาะกับวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ เพราะชอบประวัติศาสตร์และรักงานศิลปะ จึงสละการเป็นศิลปินในปี ๒๕๐๙ เพื่อศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ จนได้รับปริญญาตรีเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัย Indiana เมือง Bloomington รัฐ Indiana สหรัฐอเมริกา และในปี ๒๕๑๘ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตทางประวัติศาสตร์ศิลป์จากมหาวิทยาลัย Harvard โดยได้รับทุนจาก JDR3 Foundation ดร.พิริยะเริ่มสนใจศิลปะสมัยทวาราวดีในระหว่างนี้ โดยสืบเนื่องมาจากการศึกษาค้นคว้าประกอบวิทยานิพนธ์ในหัวข้อ ‘The Chula Pathon Cedi: Architecture and Sculpture of Dvaravati’

ดร.พิริยะเป็นที่รู้จักกันดีในวงวิชาการทั้งในประเทศและนานาชาติ ในเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ศิลปะของเอเชีย ทั้งยังเป็นผู้จัดตั้งแผนกศิลปะแห่งเอเชียที่ National Gallery of Australia ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลียในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ และได้เป็นอาจารย์พิเศษที่ School of Oriental and African Studies มหาวิทยาลัยลอนดอน

ในปี ๒๕๒๐ - ๒๕๒๑ ดร.พิริยะสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร แล้วจึงย้ายมาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสอนอยู่เป็นเวลา ๒๕ ปีจนเกษียณอายุราชการ หลังจากนั้นเป็นผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๔๖-๒๕๔๙

ดร.พิริยะได้รับเกียรติจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยกย่องให้เป็นเมธีวิจัยอาวุโสในสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ นอกจากนั้น ยังได้รับเลือกเป็นนายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๒-๒๕๓๗ และได้รับพระราชทานแต่งตั้งเป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐

ในช่วงหลัง ดร.พิริยะได้หวลกลับสู่งานศิลปะอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่วางมือมาเป็นเวลา ๓๘ ปี โดยในปี ๒๕๔๖ ได้ตั้งต้นวาดรูปใหม่อย่างเป็นครั้งคราว จากปี ๒๕๕๙ เป็นต้นมา ดร.พิริยะมีความสุขในการเป็นศิลปินอีกครั้งหนึ่ง

Contact Piriya Krairiksh Foundation

Address

30/7 Soi Ruamrudee
Ploenchit Road, Lumpini, Pathumwan
Bangkok 10330 Thailand
Copyright © 2022 Piriya Krairiksh Foundation. All Rights Reserved