บ้านสกุลไกรฤกษ์ ๓ หลังสร้างบนที่ดินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่เจ้าจอมมารดาชุ่มและน้องชายทั้งสองของท่าน คือ พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ) และพระยาประเสริฐศุภกิจ (เพิ่ม) ในช่วง พ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๔๘ (1899 -1905) พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภสร้างบ้านเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๔๘ (1905) พระยาประเสริฐศุภกิจสร้างเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๕๖ (1913) ส่วนที่ดินของเจ้าจอมมารดาชุ่ม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทรทิพยนิภา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเจ้าจอมมารดาชุ่ม โปรดให้สร้าง “ตำหนักทิพย์” ขึ้นใน พ.ศ.๒๔๗๗ (1934) [อ่านเพิ่ม]
บ้านสกุลไกรฤกษ์หลังที่ ๔ คือบ้านของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) ใน พ.ศ. ๒๔๔๘ (1905) ท่านได้มาซื้อที่ดินที่ถนนซังฮี้ฝั่งตรงข้ามกับบ้านพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภผู้เป็นทั้งญาติไกรฤกษ์และมิตรที่สนิทสนมกัน ตึกของท่านสร้างเสร็จใน พ.ศ. ๒๔๖๗ (1924)
บ้านสกุลไกรฤกษ์ ทั้ง ๔ หลัง มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลง ชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปะ สถาปัตยกรรม รวมทั้งรสนิยมของขุนนางในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เป็นอย่างดี เมื่อกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ ๒๐๐ ปี ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ (1982) คณะกรรมการจัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เล็งเห็นคุณค่าที่จะอนุรักษ์บ้านเหล่านี้ จึงได้จัดไว้ใต้หมวดโบราณสถานและสถานที่สำคัญในกรุงรัตนโกสินทร์ “เฉพาะที่เป็นตัวอย่างอันสำคัญแห่งความงามทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมประจำชาติ ความนิยมแห่งศิลปกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละยุคสมัย” ในหนังสือเรื่อง จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์ (ศิลปากร ๒๕๒๕, คำนำ)